Mon - Fri : 8:00 - 16:00
Division of Nephrology, King Chulalongkorn Memorial Hospital
8th and 10th floor, Zone C,
Bhumisiri Mangkhalanusorn Building
ชีวิต งานและปรัชญา
สถานเสาวภา สภากาชาดไทย
ปาฐกถาเกียรติยศวีกิจ วีรานุวัติ
การประชุมราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ประจำปี 2563 ณ พัทยา จังหวัดชลบุรี
ผมขอเริ่มด้วยเพลง “จังหวะชีวิต” เป็นเพลงซึ่งใช้ประกวดนักร้องประเทศไทยของกรมโฆษณาการ ในปี 2492 ซึ่งปัจจุบันคือกรมประชาสัมพันธ์* เนื้อเพลงขึ้นต้นด้วย “ชีพคือชีวิต ชีวิตคืองาน” จบลงด้วยชีวิตต้องดำเนินไปด้วยจังหวะที่ถูกต้อง เป็นเพลงที่ให้ข้อคิดดี แท้จริงแล้ว ชีวิตเกิดมาเพื่อเผชิญกับความจริง ศึกษาความจริงเหล่านั้นให้ถ่องแท้และแก้ปัญหา การเผชิญความจริง ศึกษา แก้ปัญหา ต้องทำไปตลอดชีวิตเป็นวงจร ชีวิตและงานคือปัจจุบันและอนาคต ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นอดีตอย่างรวดเร็ว เกียรติยศเป็นอดีตที่ไม่ควรยึดมั่น ชีวิตอยู่เพื่ออนาคต โดยอาศัยอดีตเป็น footprint จากประสบการณ์ที่จะทำให้งานก้าวหน้าต่อไปในอนาคต ชีวิตจริงคือปัจจุบันซึ่งสั้น และอนาคตซึ่งยาว งานที่ทำอาจต่อเนื่องมาจากอดีตหรืออาจเป็นงานใหม่ ควรเป็นงานที่ชอบหรือมีประสบการณ์ ต้องมีเป้าหมายชัดเจน มีความมุ่งมั่น ประเมินผล กำหนดอนาคตและแก้ปัญหา การดำเนินชีวิตเป็นเรื่องของคำถาม what when where why how เป็นการเรียนรู้ซึ่งพัฒนามาตั้งแต่เด็ก เด็กเรียนรู้ด้วยการจับ คลำ แกะ เคาะ หยิบใส่ปากและขว้างทิ้ง เป็นพฤติกรรมของเด็กที่ต้องการเรียนรู้ ไม่มีอะไรพิเศษ what when where why how นั้นไม่ได้หยุดอยู่ที่ how แต่ how กลายเป็น what ไปอีก เป็นการหมุนเวียนกับ what when where why how…. what when where why how ในรูปของวงกลมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตและหลาย ๆ สิ่งในโลก ตั้งแต่อริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ในรูปธรรมจักรถึงสุริยจักรวาลและวัตถุ เช่น นาฬิกา ล้อรถหมุน กังหันซึ่งหมุนเป็นวงกลม การหมุนเป็นการพัฒนาซึ่งอาศัยพลังงาน วงปี (annual ring) ของต้นไม้เป็นวงกลมแสดงถึงการเจริญเติบโตซึ่งอาศัยพลังงาน รถยนต์ก็ต้องมีน้ำมันเป็นพลังงานให้หมุน ขาดน้ำมันรถยนต์ก็หยุด ชีวิตก็ต้องพัฒนาเพื่อให้ชีวิตดำเนินต่อไปโดยมีเป้าหมาย มีความมุ่งมั่น ถ้าขาดเป้าหมายและไม่พัฒนา ชีวิตก็หยุดเช่นเดียวกับรถยนต์ที่ขาดน้ำมัน
งานที่ทำทุกชนิดทั้งงานใหม่และงานที่ทำอยู่แล้ว ต้องพิจารณาสถานภาพของสิ่งแวดล้อมที่อาจกระทบงานที่ทำ คำนึงถึงภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม ประชากร การเมือง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีการทบทวน วิเคราะห์ สังเคราะห์อย่างละเอียดด้วยปัญญาซึ่งต้องแสวงหาในพุทธศาสนา ปัญญาประกอบด้วย สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา สุตมยปัญญาเกิดจากการได้ฟังมาก อ่านมาก จินตมยปัญญาจากฟังแล้วคิดและจำให้เข้าใจ และภาวนามยปัญญาจากการปฏิบัติ ปัญญาเกิดจากการได้ฟัง ตั้งจิต พิจารณาและปฏิบัติ ในสมัยหนึ่งครูสอนเด็กให้รู้จัก สุ จิ ปุ ลิ ซึ่งหมายถึง ฟัง คิด ถาม เขียน เป็นการฝึกให้เกิดปัญญาตั้งแต่เด็กซึ่งเป็นการสอนที่ดีมากและหายไปในปัจจุบัน คำสอนของขงจื๊อ I hear I forget, I see I remember, I do I understand ฟังเฉย ๆ มักลืม เห็นแล้วจำได้แต่ถ้าได้ทำ ก็เข้าใจ ทั้งการสอนของครูและของขงจื๊อสื่อ ความหมายอย่างเดียวกันในพุทธศาสนา “การคบกับบัณฑิตเป็นมงคล” เป็นมงคลข้อสองในมงคลสูตร การคบ กับบัณฑิตหรือผู้มีปัญญาทำให้เจริญปัญญา สมควรแก่การปฏิบัติและเป็นกลยุทธ์หนึ่งของการสร้างปัญญา
การเริ่มต้นของงานทุกชนิด ต้องมีการทบทวน วิเคราะห์และสังเคราะห์ซึ่งแสดงคุณภาพของงาน และกำหนดงานที่ควรจะทำต่อไปในอนาคต งานที่ดีต้องมีนวภาพ เป็นงานใหม่ ไม่ซ้ำซ้อน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติอย่างกว้างขวาง นวภาพจึงมีความหมายกว้างแสดงถึงการพัฒนาและสามารถมองเห็นได้ด้วยปัญญา สำหรับปรัชญานั้นหมายถึงปัญญาระดับสูงคือ ปัญญากับจินตนาการซึ่งมองไม่เห็นแต่คิดให้ลึกซึ้งลงไปอีก จากปัจจุบันย้อนสู่อดีตและอนาคต จินตนาการคือการสร้างภาพให้เกิดความสร้างสรรค์จากการได้เรียนรู้ศาสตร์ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาก่อน การมองสิ่งที่มองเห็นรอบรอบตัวเราคือ vision การศึกษาสิ่งที่เห็นทำให้เกิดปัญญา เมื่อรวมกับจินตนาการซึ่งเรามองไม่เห็น ทำให้ได้ปรัชญาซึ่งเป็นปัญญาในหลายมิติ จินตนาการย้อนยุคสู่อดีตทำให้ เข้าใจยุคต่าง ๆ ของโลกและสิ่งที่มีชีวิต เช่น ไดโนเสาร์ในยุค Mesozoic ทำให้เข้าใจวิวัฒนาการของสัตว์เลื้อยคลาน จินตนาการสู่อนาคตของโลกร้อนซึ่งก่อให้เกิดปัญหาหลายอย่าง โลกร้อนมาพร้อมกับ carbon dioxide ที่เพิ่มขึ้น ในน้ำทะเลเอื้อต่อการเจริญเติบโตของ plankton ทั้งมีพิษและไม่มีพิษซึ่งเป็นอาหารของกุ้งและปลาที่มนุษย์บริโภค มีอันตรายต่อหลายระบบของร่างกาย เป็นปรัชญาจากจินตนาการซึ่งเป็นไปได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ ในสภาวะ โลกร้อน สึนามิ แผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดบ่อยครั้งขึ้นและเป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ ต้องมีการตระเตรียม ความพร้อม การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของแมลงซึ่งกินอาหารมากขึ้นจากโลกร้อนอาจมีผลเกี่ยวกับการเกษตรและสุขภาพของมนุษย์ หิมะละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น นำมาซึ่งสัตว์ทะเลมีพิษ เช่น แมงกระพรุนกล่อง ในน่านน้ำไทย และอ่าวไทย น้ำท่วมนอกจากนำมาซึ่งโรคระบาดแล้วยังส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ทุกด้าน การเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กโลกมีผลต่อการเดินทางของปลาและนกซึ่งอาจส่งผลเกี่ยวกับการประมงและการนำโรคมาสู่คน
สำหรับงานเขียน จินตนาการสำคัญมาก มีผู้เล่าให้ผมฟังว่า หลวงวิจิตรวาทการ นักเขียนนวนิยาย ที่มีชื่อเสียงมากในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีผู้ชื่นชมในการเขียนหนังสือของท่าน ท่านเขียนนวนิยายหลายเรื่อง เช่น ห้วงรัก-เหวลึก ดอกฟ้าจำปาศักดิ์และอื่น ๆ เป็นที่นิยมของนักอ่านนวนิยาย มีผู้ถามท่านถึงวิธีที่ทำให้แต่งหนังสือเก่ง ท่านบอกว่า “ท่านอ่านหนังสือมาก จำได้ดีและสามารถนำบางส่วนไปเขียนในหนังสือได้อย่างเหมาะสมและ ที่สำคัญต้องใส่จินตนาการ อารมณ์และรสชาติ จึงจะทำให้หนังสือสนุกและน่าอ่าน” เพราะฉะนั้น การเขียนหนังสือ ที่ดี ต้องใส่จินตนาการในรูปอรรถรสที่มองไม่เห็นแต่รู้สึกได้ การเขียนบทความวิชาการก็เช่นเดียวกัน แม้มีการทบทวน วิเคราะห์ สังเคราะห์ ก็ยังไม่สมบูรณ์ถ้าขาดจินตนาการ จินตนาการเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นแต่มีความสำคัญมากสำหรับงานทุกอย่าง ในด้านดนตรี Symphonie fantastique ของ Hector Berlioz คีตกวีชาวฝรั่งเศสซึ่งเป็นที่ชื่นชมของนักฟังดนตรีคลาสสิก เป็นตัวอย่างที่ดี Principle theme ซึ่งสื่อถึงความรักที่สุดซึ้ง เกิดจากจินตนาการของ Berlioz คำนึงถึงหญิงคนรัก เป็น theme ที่เด่น ไพเราะและอ้อยอิ่งอยู่ตลอดจน symphony จบ ไม่เพียงแต่คีตกวีเท่านั้น นักดนตรีก็สามารถแสดงจินตนาการได้โดยการเล่น cadenza สำหรับนักร้องต้องใส่อารมณ์ในเพลง
ในปัจจุบันมีการใช้คำวิสัยทัศน์อย่างแพร่หลายเป็นการสื่อถึงปัญญา ต้องการความรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ มาก ซึ่งยากที่จะติดตาม ถ้าเปรียบกับปิรามิด อยู่ที่ฐานปิรามิดก็เห็นภูมิประเทศด้านเดียว ถ้าไต่ขึ้นไป จะเห็นภูมิประเทศ มากขึ้น ที่ยอดปิรามิดจะเห็นภูมิประเทศกว้างขวางรอบด้าน ในด้านความรู้ การประสานความรู้กับศาสตร์ที่ใกล้เคียง เปรียบเสมือนการไต่ตามสันของปิรามิด ทำให้ปีนสู่ยอดปิรามิดง่ายขึ้นและทำให้รู้ศาสตร์อื่น ๆ ด้วย ที่ยอดปิดรามิด ศาสตร์ทุกศาสตร์บรรจบกัน ถ้าไต่ถึงยอดปิรามิดก็เข้าใจศาสตร์ทุกชนิด สมัยนี้เราเรียนศาสตร์ต่าง ๆ น้อย ถ้ากล่าวถึง ละครจักร ๆ วงศ์ ๆ การศึกษากับพระเจ้าตาหรือการศึกษากับพระอาจารย์ที่ตักศิลา อาจารย์สอนจนเจนจบทุกวิชา รวมทั้งการรบและพิชัยสงคราม จบจากพระอาจารย์แล้วเก่งทุกอย่าง เป็นการศึกษาซึ่งกว้าง สำหรับในปัจจุบัน การศึกษาแคบลง มุ่งสู่สาขาวิชาเฉพาะทาง ขาดการปูพื้นฐาน ต้องอาศัยกลยุทธ์การไต่ปิรามิด ในมหาวิทยาลัย ต่างประเทศมีการศึกษา liberal arts ซึ่งเรียนศาสตร์ต่าง ๆ อย่างกว้างขวางรวมทั้งการหาประสบการณ์นอกหลักสูตร เป็นการปูพื้นฐานนำไปสู่วิชาเฉพาะ เป็นการย่นระยะทางสู่ยอดปิรามิด Nobel laureate หลายคนมีประวัติเป็น backpacker เดินเที่ยวถนนข้าวสารและสวนจตุจักรในประเทศไทยเพื่อสะสมความรู้และประสบการณ์ การประสานงานของศาสตร์เป็นการเดินทางสู่ยอดปิรามิด จึงไม่น่าแปลกใจที่ Albert Einstein ก็สนใจและเข้าใจพุทธศาสนา ถ้าขึ้นไป สูง ๆ จะพบกับศาสตร์อื่นมากขึ้น ศาสตร์ทุกแขนงบรรจบกันที่ยอดปิรามิด ในฐานะที่เป็นครูในโรงเรียนแพทย์ ผมแนะนำศิษย์ในยุทธการไต่ยอดปิรามิดและดีใจที่มีศิษย์หลายคนกำลังไต่ยอดปิรามิดอยู่
การดำเนินงานในชีวิตย่อมประสบปัญหา ต้องแก้ปัญหาด้วยสมาธิและปัญญา สมเด็จพระญาณสังวร อดีตสมเด็จพระสังฆราช ทุกครั้งที่ท่านแสดงธรรม ท่านจะเริ่มต้นด้วยการกล่าว “ขอให้ตั้งใจฟัง ทำจิตให้เป็นสมาธิเพื่อให้เกิดปัญญาในธรรม” ในพุทธศาสนา ไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา สมาธิทำให้เกิดปัญญา อย่างไรก็ดีจิตซึ่งตั้งสมาธิ มุ่งมั่นเกินไปก็อาจแก้ปัญหาไม่ได้ ต้องผ่อนคลายบ้าง “สมาธิคือผ่อนคลาย ผ่อนคลายคือสมาธิ” เป็นปรัชญาจีน ถ้ามุ่งมั่นมากไป บางทีไม่เกิดผล ต้องผ่อนคลายบ้าง ในเรื่องสามก๊ก ขงเบ้งนั่งตกปลาผ่อนคลายอารมณ์เพื่อหากลยุทธ์การสงคราม จิตที่ตั้งอยู่ในสมาธินาน ๆ ต้องผ่อนคลายบ้าง เมื่อผ่อนคลายก็สามารถแก้ปัญหาได้ ผมเคยเขียนงานวิจัยเรื่องหนึ่งส่งไปวารสารต่างประเทศ Archives of Internal Medicine ได้รับจดหมายตอบจากบรรณาธิการ เป็นความเห็นของกรรมการ 2 คน คนหนึ่งบอกว่าดีแต่ยาวไป อีกคนบอกว่าดีแต่สั้นไป บรรณาธิการ ให้ผมปฏิบัติตามความเห็นของกรรมการทั้งสองเพื่อลงในวารสาร เป็นโจทย์ที่ยาก พยายามตั้งจิตเป็นสมาธิ ใคร่ครวญ ก็ยังแก้โจทย์ข้อนี้ไม่ได้ รู้สึกเครียด ผมรับประทานอาหารที่บ้าน รับประทานเสร็จ ก็นั่งผ่อนคลายอารมณ์ ดูโต๊ะอาหารซึ่งเต็มไปด้วยจานหลายแบบแต่ก็ดูมีระเบียบดี ทำให้คิดถึงบทความนั้น โต๊ะคือ table, table คือ ตาราง น่าจะสร้างตารางขึ้นและใส่ข้อมูลที่สมบูรณ์ในตารางให้เป็นระเบียบ น่าจะตอบปัญหายาวไป สั้นไปได้ จึงได้ปฏิบัติตาม ที่คิดและส่งบทความกลับไป บรรณาธิการได้ตอบรับด้วยดี จิตอยู่ในสมาธิมากไป คิดไม่ออก จิตผ่อนคลายแล้วคิดออกการผ่อนคลายอารมณ์ของจิตที่เป็นสมาธิมาก่อนสามารถแก้ปัญหาได้ ไม่ใช่จิตผ่อนคลายอย่างเดียว เป็นข้อคิดของขงจื๊อซึ่งนำมาใช้ในกรณีของผม “ผ่อนคลายคือสมาธิ สมาธิคือผ่อนคลาย” “เล็กคือใหญ่ ใหญ่คือเล็ก” นึกถึงตุ๊กตา Russia ที่มีตั้งแต่ขนาดเล็กไปถึงขนาดใหญ่ ทุกตัวเหมือนกัน ถ้าเข้าใจตัวเล็กก็เข้าใจตัวใหญ่ เข้าใจตัวใหญ่ก็เข้าใจ ตัวเล็ก เพราะล้วนเป็นสิ่งเดียวกัน เรื่องนี้นำสู่ดนตรีคลาสสิก Tchaikovsky overture 1812 ประพันธ์เพลงโดย Peter Ilyich Tchaikovsky คีตกวีที่มีชื่อเสียงของรัสเซีย Overture นี้แสดงถึง Napoleon พ่ายแพ้ที่ Moscow Napoleon นำทหารชั้นนำ 450,000 คน เดินทัพสู่ Moscow เผชิญกับ rickettsial disease ที่ Poland มาถึง Moscow อย่างเหนื่อยอ่อน พระเจ้า Tsar Alexander I เปิดประตูเมือง อพยพพลเมืองและขนย้ายเสบียงอาหารออกไปหมด กองทัพ Napoleon เข้า Moscow โดยง่ายแต่เป็นเมืองร้าง ไม่มีเสบียงอาหาร พระเจ้า Tsar สั่ง จุดไฟเผา Moscow กองทัพ Napoleon เหนื่อยล้าและขาดอาหาร เผชิญกับไฟ สูญเสียทหารกับการรบในกองเพลิงจำนวนมาก จากทหาร 450,000 คนเหลือ 27,000 คน กลับสู่ฝรั่งเศส เป็นความพ่ายแพ้ของ Napoleon ครั้งแรกที่ Moscow เป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของ Tsar Alexander I และเป็นที่มาของ Tchaikovsky Overture 1812 ซึ่ง Tchaikovsky ประพันธ์ขึ้นเพื่อสดุดีชัยชนะของรัสเซีย Overture จบลงด้วยเสียงระฆังและทำนอง God save the Tsar เปรียบเทียบได้กับ cell ซึ่งเป็นสิ่งที่เล็ก ต่อสู้กับจุลินทรีย์ด้วยกลไกของ cell ซึ่งเปิดช่องให้แร่ธาตุและสารอาหารออกจาก cell หมด จุลินทรีย์ที่เข้ามาใน cell ขาดสารอาหารและถูกฆ่าตายใน cell ด้วยกลไกจุดความร้อน (pyroptosis) ของการอักเสบของ cell การพ่ายแพ้ของ Napoleon กับการที่จุลินทรีย์ตายจาก pyroptosis เป็น กลไกแบบเดียวกัน Tsar Alexander I ใช้กลยุทธ์การสงครามแบบเดียวกับ cell ใช้กับจุลินทรีย์ คือใช้ความร้อนของไฟ “ใหญ่คือเล็ก เล็กคือใหญ่”
การบริหารองค์กรก็ไม่แตกต่างกับการบริหารของ cell ของร่างกาย cell มีฝ่ายต้อนรับ ประชาสัมพันธ์ การติดต่อ การบริหาร การตรวจสอบ กลไก feedback และ feedforward เหมือนองค์กร ถ้าเข้าใจกลไกของ cell ที่เป็นสิ่งเล็ก ก็เข้าใจกลไกของการบริหารที่เป็นสิ่งใหญ่และในทางกลับกัน ถ้าต้องการทราบกลไกใน cell ก็นึกถึงกลไกของการบริหาร
การสัมฤทธิผลในงานอาศัยอิทธิบาท 4 อิทธิบาท 4 ในพุทธศาสนาเป็น 4 ปัจจัยของการพัฒนาชีวิตในวงจรที่ทำให้งานสำเร็จ ผมนิยมใช้ภาษาอังกฤษเพราะเป็นคำสั้น ๆ แต่สื่อความหมายได้ดี ไม่ต้องอธิบายมากหรือ ต้องใช้คุณศัพท์ประกอบเพื่ออธิบาย ศัพท์ในภาษาอังกฤษซึ่งสั้นสามารถนำไปใช้อธิบายพุทธศาสนาให้ชาวต่างประเทศและสื่อความหมายได้ถูกต้อง ฉันทะคือความชอบอย่างสุดซึ้งคือ passion ในภาษาอังกฤษ สื่อความหมายได้ดี วิริยะเป็นความเพียรขั้นสูงหรือ perseverance เป็นความเพียรเช่นพระมหาชนกว่ายน้ำในมหาสมุทรในพระราชนิพนธ์ จิตตะหมายถึงจิตจดจ่ออยู่เสมอคือ thoughtfulness วิมังสาคือ การใคร่ครวญหรือ reasoning ศัพท์ภาษาอังกฤษเหล่านี้ แสวงหาได้จากหนังสือของพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ปัจจุบันคือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ งานทุกงานสำเร็จได้จาก 4 ปัจจัยนี้ การพัฒนาชีวิตในวงจร อริยสัจ 4 ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค…ทุกข์… ร่วมกับการเจริญอิทธิบาท 4 ทำให้ชีวิตดำเนินไปเรื่อย ๆ ในลักษณะวงกลม ทำให้มีชีวิตที่ยืนยาว
งานต่าง ๆ ที่ทำต้องมีการสื่อสาร การสื่อสารสำคัญมากสำหรับงานทุกชนิด ต้องมีการสื่อสารให้ ทราบว่า กำลังทำอะไร ต้องประชาสัมพันธ์ให้ได้ยิน ได้เห็น สามารถชักชวนให้เกิดความสนใจและเผยแพร่ งาน ทุกอย่างต้อง “visible, audible, communicable, inspiring” ในด้านวิทยาศาสตร์คือ “Work, finish, publish” โดย Michael Faraday การตีพิมพ์ผลงานเป็นวิธีหนึ่งของการสื่อสาร การสื่อสารเป็นภารกิจที่สำคัญมากสำหรับ ทุกหน่วยงานจนถึงระดับประเทศและระดับโลก ผมได้สนทนากับหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ (พระเทพวิทยาคม) ท่าน ได้รับเชิญให้เปิดโรงพยาบาลบ้านใหม่ไชยพจน์ที่บุรีรัมย์ ผู้อำนวยการให้ผมไปนั่งคุยเป็นเพื่อนท่าน ท่านถามว่า ผมเกิดปีไหน ปรากฏว่าผมเกิดปีเดียวกับท่าน ท่านถามว่ารู้ไหมการทำบุญอะไรได้ผลบุญมากที่สุด ผมไม่ทราบ ท่านบอกว่า การสร้างสะพานได้กุศลมากที่สุด ท่านไม่ได้ให้เหตุผล เป็นกระทู้ธรรมที่ทำให้ผมต้องนำไปคิด การสร้าง สะพานข้ามคลองทำให้คนสองฟากคลองติดต่อกัน การติดต่อกันทำให้รู้จักกัน มีความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น เป็นการผูกมิตร ทำให้เกิดความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันและมีการแบ่งปันซึ่งกันและกัน สิ่งที่ได้จากหลวงพ่อคูณ คือ ชีวิตต้องมีการติดต่อสื่อสารเพื่อความเข้าใจ ทำให้เกิดความร่วมมือและแบ่งปันกันและกันซึ่งเป็นรากฐานของความสุข ในสังคม ประเทศและโลก สอดคล้องกับการมีชีวิตในชีววิทยา สิ่งที่มีชีวิตมีชีวิตอยู่ได้ 3 วิธีคือ Parasitism เป็นการ เอาเปรียบ Commensalism คือ ต่างคนต่างอยู่ และ Symbiosis คือช่วยเหลือกันและกัน Symbiosis ดีที่สุด การเฉลี่ยความสุขเป็นวิถีชีวิตที่ดีที่สุด “Living is sharing and understanding” นำมาซึ่งความสุขของหน่วยงาน สังคม ประเทศและโลก
โดยสรุป ชีวิตต้องพัฒนาสู่อนาคตด้วยเป้าหมายที่แน่นอน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ด้วยสติปัญญา จินตนาการ ความมุ่งมั่นและระเบียบวินัย การพัฒนาต้องดำเนินไปตลอดชีวิตบนรากฐานของสุขภาพที่ดีและด้วย จังหวะที่ถูกต้อง